กระท่อม
กระท่อม
กระท่อม | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
กระท่อม[2] หรือมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa Korth.[3] เป็นพืชในวงศ์กาแฟ มีชื่อเรียกหลายชื่อ ทางภาคใต้เรียก ท่อม (thom) ภาคกลางเรียก อีถ่าง มาเลย์เรียก เบี๊ยะ (biak) หรือ เคอตุ่ม (ketum) หรือ เซบัท (sepat) เป็นพืชท้องถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, พม่า และ ปาปัวนิวกินี ที่ซึ่งปรากฏการใช้งานกระท่อมในฐานะยาสมุนไพรมาตั้งแต่อย่างน้อยคริสต์ศตวรรษที่ 19 กระท่อมมีคุณสมบัติโอปีออยด์ และมีผลคล้ายสารกระตุ้นบางส่วน
ข้อมูลจาก ปี 2018 ระบุว่าประสิทธิภาพและความปลอดภัยของกระท่อมยังคงไม่สามารถสรุปได้ และยังคงไม่ได้รับการอนุมัติเป็นยารักษาโรคเนื่องจากงานวิจัยเกี่ยวกับกระท่อมจำนวนมากขาดคุณภาพ ใน ค.ศ. 2019 องค์การอาหารและยาสหรัฐบันทึกไว้ว่า ไม่มีหลักฐานที่ว่ากระท่อมปลอดภัยหรือมีผลต่อการรักษาทุกแบบอย่างไรก็ตาม ปรากฏผู้คนบางส่วนใช้กระท่อมเพื่อบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง, อาการถอนฝิ่น รวมไปถึงการใช้ในเชิงนันทนาการ เวลาแสดงผลของกระท่อมอยู่ที่ประมาณ 5-10 นาที และจะคงอยู่ไปถึง 2-5 ชั่วโมง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กระท่อม (kratom)เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15-30 เมตร เปลือกต้นสีเทา ลำต้นของกระท่อมมีลักษณะตรง แตกกิ่งก้านน้อย ลักษณะเป็นใบเดี่ยว เรียงเป็นคู่ตรงกันข้าม ใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบป้าน ขอบใบเรียบ แต่บางชนิดอาจมีปลายใบเป็นหยัก เรียก ชนิดหางก้ัง หรือ ยักษ์ใหญ่ ผิวใบเรียบลื่น แผ่นใบบาง ด้านท้องใบมีเส้นใบเป็นสันเห็นได้ชัดเจน มีเส้นแขนงใบ ข้างละประมาณ 10-15 เส้น ขนาดใบแตกต่างกันในแต่ละพื้นถิ่น ใบเพสลาดกว้าง 10-16 เซนติเมตร ก้านใบยาว 3-5 เซนติเมตร ยอดอ่อนเห็นหูใบรูปใบหอกอยู่ตรงกลางระหว่างกันใบอ่อนท้งสองข้าง จำนวน 1 คู่ เส้นบริเวณท้องใบเป็นสัน ดอกเป็นช่อกระจุกแน่นทรงกลม ออกจากปลายกิ่งประมาณ 1-3 ช่อ ก้านช่อดอกยาว 7-12 เซนติเมตร แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยประมาณ 70-80 ดอก ดอกเมื่อแรกบานมีสีขาวนวลแล้วเปลี่ยนเป็น สีเหลือง เป็นชนิดดอกแบบสมบูรณ์เพศ ลักษณะผลกลุ่มอัดแน่นเป็นรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ภายในผลย่อยมีเมล็ดประมาณ 140-160 เมล็ด และมีปีกบาง ๆ สามารถปลิวไปได้ไกล
การขยายพันธุ์
พืชกระท่อมใช้เมล็ดในการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ เมล็ดที่มีปีกบาง จะสามารถปลิวไปได้ไกลตามแรงลม และสามารถแขวนลอยไปกับน้ำได้ง่าย จึงสามารถพบต้นกระท่อมได้ตามริมลำธารโดยเฉพาะดินชื้นแฉะ เนื่องจากพืชกระท่อมจัดเป็นพืชเสพติดให้โทษ จึงไม่มีการศึกษาวิธีการขยายพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปก็เพาะต้นกล้าจากเมล็ด จนได้ต้นกล้าสูง 15-20 เซนติเมตร ย้ายไปปลูกในพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นเหมาะสม นอกจากนั้นอาจใช้วิธีการติดตา ทาบกิ่งกับต้นตอที่มี ความแข็งแรง รวมไปถึงการติดตากับต้นกระท่อมขี้หมูที่โตไวกว่า มีรายงานวิจัยของประเทศมาเลเซีย เรื่อง การขยายพันธุ์พืชกระท่อมโดยวิธีการปักชำ โดยใช้ต้นกล้าอายุ 2 ปี จากนั้นตัดกิ่งที่มีตาข้าง (ข้อที่ 1 ถึงข้อที่ 8) ปักในกระบะดิน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนเร่งราก สภาวะเลี้ยงคือ ที่อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่า 80%
การกระจายพันธุ์
พบที่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนคาบสมุทรมลายู สุมาตรา บอร์เนียว ฟิลิปปินส์ และนิวกีนี โดยในประเทศไทยพบทางภาคใต้ มักขึ้นตามป่าดิบชื้นระดับต่ำหรือป่าพรุความสูงระดับต่ำๆ
แหล่งที่มาhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1_(%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น